บทเรียนซีรีส์พื้นฐานชีวิตคริสเตียน บทที่ 1: พระคัมภีร์ หนังสือแห่งชีวิต
พระคัมภีร์ หนังสือแห่งชีวิต
- พระคัมภีร์ เปรียบเป็นอะไรได้บ้างในชีวิตเรา ?
- ข้อแนะนำในการศึกษาพระคัมภีร์ในภาคปฏิบัติ
ฮีบรู 4:12 เพราะว่าพระวจนะของพระเจ้านั้นมีชีวิตและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ และคมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆ แทงทะลุกระทั่งแยกจิตและวิญญาณ ทั้งข้อกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย
หนังสือมากมายในโลกอาจช่วยให้เกิดความรู้และการพัฒนาชีวิต แต่ไม่มีหนังสือใดที่มีเอกลักษณ์พิเศษเท่าเทียมกับพระคัมภีร์เลย เพราะพระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระเจ้า เป็นถ้อยคำของพระเจ้าที่ถูกบันทึกไว้อย่างพิถีพิถัน เพื่อเปิดเผยน้ำพระทัยพระเจ้าสำหรับเราทุกคน พระคัมภีร์จึงเป็นหนังสือที่มีสิทธิอำนาจสูงสุดที่สามารถสั่งสอน วินิจฉัย และชี้ขาดความมุ่งหมายใดใดในชีวิตมนุษย์ได้
พระเยซูทรงชี้ให้เห็นว่า ถ้อยคำของพระองค์เองก็ได้รับการดลใจจากพระเจ้า
มาระโก 13:31 ฟ้าและดินจะล่วงไป แต่บรรดาถ้อยคำของเราจะไม่สูญหายไปเลย
ฉะนั้นเราจึงเชื่อและมั่นใจในพระวจนะพระเจ้าทุกข้อทุกตอนที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ เพราะพระคัมภีร์เป็นมาจากพระเจ้าที่ทรงดลใจให้มนุษย์เขียนขึ้น ซึ่งข้อความทั้งหมดไม่มีความผิดพลาดเพราะพระเจ้าทรงเป็นเหมือนบรรณาธิการที่กำกับดูแลหนังสือด้วยพระองค์เอง
พระคัมภีร์เป็นข้อความจากพระเจ้าถึงเรา และเป็นประโยชน์มากมายทางจิตวิญญาณ
เราก็ควรยอมรับให้พระวจนะพระเจ้า คือ พระคัมภีร์
ซึ่งเปรียบเหมือนหนังสือคู่มือในการดำเนินชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราเช่นกัน
พระคัมภีร์ เปรียบเป็นอะไรได้บ้างในชีวิตเรา?
1. อาหารฝ่ายจิตวิญญาณ
มัทธิว 4:4 พระองค์ตรัสตอบว่า “มีพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า ‘มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำรงชีวิตด้วยพระวจนะทุกคำ ซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า’”
ชีวิตของเราไม่ได้ประกอบไปด้วยร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ชีวิตของเราประกอบไปด้วย ร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ อาหารเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอสำหรับชีวิตของมนุษย์ เพราะชีวิตของเรามีมากกว่าแค่เพียงร่างกาย เรามีจิตใจ และจิตวิญญาณด้วย ขณะที่จิตใจต้องการความสัมพันธ์กับผู้อื่น จิตวิญญาณก็ต้องการพระคำของพระเจ้า คือพระคัมภีร์ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราให้เติบโต
หากร่างกายเราขาดอาหารไม่ได้ จิตวิญญาณเราก็ขาดการอ่านพระคัมภีร์ไม่ได้เช่นกัน พระคัมภีร์จึงเป็นความจำเป็นของการดำเนินชีวิตคริสเตียน เพราะเป็นอาหารฝ่ายจิตวิญญาณของเรา การอ่านพระคัมภีร์ทุกๆ วัน จึงเป็นเรื่องสำคัญหากเราตั้งใจจะให้พระคัมภีร์เป็นคู่มือแห่งชีวิตของเรา
2. ตะเกียงส่องสว่าง
สดุดี 119:105 พระวจนะของพระองค์เป็นตะเกียงแก่เท้าของข้าพระองค์ และเป็นความสว่างแก่ทางของข้าพระองค์
ในตอนนี้พระวจนะของพระจ้าคือพระคัมภีร์ เปรียบเหมือนตะเกียงส่องสว่างนำทางของเรา ในข้อนี้ให้รายละเอียดว่าเป็นเหมือน “ตะเกียงส่องเท้า” ไม่ใช่ตะเกียงที่ตั้งอยู่ในห้องหรือในบ้าน แต่เป็นตะเกียงสำหรับการเดินทาง
การให้พระคัมภีร์เป็นคู่มือแห่งชีวิต เราต้องยอมรับให้พระคัมภีร์สว่างขึ้นอย่างชัดเจนและเดินไป คือเข้าใจในความคิดของพระเจ้าในเรื่องนั้นๆ เพื่อจะเดินไป ไม่ใช่เดินอย่างไม่เข้าใจ หรือพยายามทำความเข้าใจมากที่สุดโดยไม่ได้เดิน
หลายต่อหลายครั้งถ้าเราต้องตัดสินใจในทางเลือกของเส้นทางชีวิต ความเข้าใจในพระคัมภีร์จะช่วยเราให้เข้าใจในทางที่เราควรจะเดินไปเพื่อการตัดสินใจของเราจะไม่พลาดพระประสงค์ของพระเจ้า
3. กระจกสะท้อนชีวิต
ยากอบ 1:23 เพราะถ้าใครเป็นเพียงผู้ฟังพระวจนะและไม่ใช่ผู้ประพฤติตาม ผู้นั้นก็เป็นเหมือนคนที่ดูหน้าของตนเองในกระจกเงา
ทุกครั้งที่เราอ่านพระคัมภีร์ พระคัมภีร์จะเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนให้เราเห็นว่าพระเจ้าดีอย่างไร และรู้จักตัวเราเองว่าเป็นอย่างไร มีอะไรบกพร่องที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อชีวิตเราจะดีขึ้นๆ ในการดำเนินชีวิตกับพระเจ้า พระคัมภีร์จึงจำเป็นมากสำหรับชีวิตคริสเตียน
ข้อแนะนำในการศึกษาพระคัมภีร์ในภาคปฏิบัติ
1. การอ่านพระคัมภีร์ควรอ่านอย่างช้าๆ ไม่ต้องรีบเร่ง
ความตั้งใจที่จะนำหลักการในพระคัมภีร์มาประยุกต์ใช้จริงเป็นการเรียนรู้ที่เป็นระยะยาว อาศัยการใคร่ครวญ สมองที่เปิดรับ ประกอบกับเนื้อหาพระคัมภีร์ที่มีมากมาย การค่อยๆ อ่านค่อยๆ ศึกษาจึงจำเป็น เราไม่ควรรีบเร่งจนเกินไป เราอาจจะอ่านพระคัมภีร์แบบเร็วๆ สักรอบเพื่อมองเห็นภาพรวม แต่ถ้าตั้งใจจะอ่านเพื่อนำมาใช้จริงต้องค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ซึมซับ
2. ตั้งใจค้นหาสิ่งที่พระเจ้าปรารถนาให้เราประยุกต์ใช้ในชีวิตส่วนตัว
ตัวอย่าง เช่น เรื่องการดูแลพระวิหารพระเจ้าตอนนี้พระคัมภีร์พูดตรงๆ คือร่างกาย เราสามารถนำมาพิจารณาได้มากมาย เช่น อุปนิสัยเดิมอะไรที่เราทำหรือยังมีสิ่งเสพติดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากเรายังทำอยู่ให้เราเชื่อพระคัมภีร์และทำตามโดยการเลิกสิ่งเหล่านั้นเสีย
1 โครินธ์ 6:19-20 ท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่า ร่างกายของพวกท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตในท่าน ผู้ซึ่งพวกท่านได้รับจากพระเจ้า และท่านทั้งหลายไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง?เพราะว่าพระเจ้าทรงซื้อท่านไว้แล้วด้วยราคาสูง ฉะนั้น จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยร่างกายของพวกท่านเถิด
พระคัมภีร์หนุนใจเราให้เลิกทำบาป เลิกพึงพอใจกับชีวิตเดิมๆ ที่ไม่ถูกต้อง
1 เปโตร 4:3 จงให้เวลาที่ผ่านไปแล้วนั้น เพียงพอสำหรับการทำสิ่งที่คนต่างชาติชอบกระทำ คือการปล่อยตัวตามราคะตัณหา ตามใจปรารถนาชั่ว การเมาเหล้าองุ่น การเลี้ยงกันอย่างถึงใจ การกินเหล้าวุ่นวายกัน และการไหว้รูปเคารพอันน่ารังเกียจ
หรือแม้แต่เรื่องการเทียมแอก หมายถึงการลงหุ้นส่วนชีวิต การแต่งงาน เราต้องพิจารณาให้ดี พระเจ้าคัมภีร์สอนให้เราไม่เทียมแอกกับคนที่ยังไม่เชื่อพระเจ้า
2 โครินธ์ 6:14 อย่าเข้าเทียมแอกกับคนที่ไม่เชื่อ เพราะว่าความชอบธรรมจะมีส่วนอะไรกับความอธรรม? และความสว่างจะมีส่วนกับความมืดได้อย่างไร?
3. ควรศึกษาในเรื่องหลักๆ ก่อนลงลึกในรายละเอียด
มาระโก 4:28 เพราะแผ่นดินเองทำให้พืชงอกงามโดยขึ้นเป็นลำต้นก่อน ภายหลังก็ออกรวง แล้วก็มีเมล็ดข้าวเต็มรวง
พระเยซูให้ภาพการเติบโตในความเชื่อของเราจะเกิดขึ้นค่อยเป็นค่อยไปและมีลำดับ
ในการศึกษาพระคัมภีร์ก็เป็นอย่างนั้น เหมือนการศึกษาแผนที่ในเมืองใหญ่ๆ สักเมือง เราต้องจับทางก่อนว่าถนนสายหลักอยู่ตรงไหน แล้วจึงค่อยๆ ลงไปไล่ดูในตรอกซอกซอยจนเข้าใจภาพทั้งหมดมากขึ้นเรื่อยๆ
4. ตั้งใจเรียนพระคัมภีร์ในโปรแกรมที่คริสตจักรสร้างขึ้น
สดุดี 119:97 แหม ข้าพระองค์รักพระธรรมของพระองค์จริงๆ เป็นคำภาวนาของข้าพระองค์วันยังค่ำ
คริสตจักรมีระบบการสอนพระคัมภีร์เป็นขั้นๆ เพื่อให้เรารับรู้พระคัมภีร์อย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่รากฐานจนถึงขั้นสูง เนื้อหาคำสอนได้รับการกลั่นกรองในความถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่สมาชิก ฉะนั้นการเข้าโปรแกรมพระคัมภีร์ของคริสตจักรจึงช่วยเราได้มากให้เข้าใจพระคัมภีร์อย่างเป็นระบบและครบถ้วน
5. เมื่อมีคำถามให้สอบถามมายังพี่เลี้ยงหรือผู้นำในคริสตจักร
สุภาษิต 11:14 เมื่อไม่มีการชี้แนะ ประชาชนก็ล้มลง แต่โดยมีที่ปรึกษามาก ก็มีความปลอดภัย
คริสตจักรมีระบบการอภิบาลคือการดูแลฝ่ายจิตวิญญาณเป็นชั้นๆ หากเรามีคำถาม เราสามารถถามมายังพี่เลี้ยงหรือผู้นำคริสตจักรได้โดยตรงซึ่งเราจะได้รับประโยชน์มาก
พระคัมภีร์เป็นข้อความจากพระเจ้าถึงเรา และเป็นประโยชน์มากมายทางจิตวิญญาณ
เราก็ควรยอมรับให้พระวจนะพระเจ้า คือ พระคัมภีร์
ซึ่งเปรียบเหมือนหนังสือคู่มือในการดำเนินชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราเช่นกัน
ผู้เขียน: อจ. ดร.กนก ลีฬหเกรียงไกร