การอธิษฐาน
พระเยซูเป็นแบบอย่างในการอธิษฐานแก่เราอย่างมาก เราพบหลายครั้งในพระคัมภีร์พระเยซูอธิษฐานช่วงเช้า และหลายครั้งหลังจากจบภารกิจในการรับใช้
ลูกา 5:16 แต่พระองค์มักจะเสด็จออกไปยังที่เปลี่ยวและทรงอธิษฐาน
มาระโก 6:45-46 45แล้วพระองค์ตรัสสั่งให้พวกสาวกลงเรือทันทีและข้ามไปยังเมืองเบธไซดาก่อน ระหว่างที่พระองค์ทรงรอส่งฝูงชนกลับบ้าน 46หลังจากพระองค์ทรงลาพวกเขาแล้ว ก็เสด็จขึ้นภูเขาเพื่อทรงอธิษฐานที่นั่น
การอธิษฐาน สิ่งที่ชีวิตคริสเตียนขาดไม่ได้
จะว่าไปการอธิษฐานเปรียบเสมือนลมหายใจของคริสเตียนก็ไม่ผิด เพราะการอธิษฐานเป็นการพูดคุยติดต่อกับพระเจ้าของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้อนรับพระเยซูเข้ามาเป็นพระเจ้าของเรา เราสามารถสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้าได้ในฐานะบุตรของพระองค์ และผู้ที่แสวงหาพระองค์เขาจะพบพระองค์ และชีวิตของเขาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
การอธิษฐานเป็นทั้งชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษ
เราอาจจะมีบางเรื่องที่หนักใจอยากทูลต่อพระเจ้าเป็นพิเศษ
หรือเราอาจไม่มีอะไรเป็นพิเศษแต่อธิษฐานเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์สนิทกับพระองค์
ซึ่งนั่นเป็นสิ่งดีมากสำหรับการพัฒนาชีวิตคริสเตียน
เมื่อพระเยซูทรงสอนสาวกให้อธิษฐาน ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจและพระเยซูทรงยกเป็นอุปมาสอนสาวกเรื่องการอธิษฐานคือท่าทีแห่งความเชื่อและความสนิทสนม พระเยซูให้ตัวอย่างของการรบเร้าขอขนมปังจากเพื่อนของตนยามดึก
ลูกา 11:5-7 5แล้วพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “ใครในพวกท่านที่มีเพื่อนคนหนึ่ง และเขาไปหาเพื่อนคนนั้นในเวลาเที่ยงคืน พูดกับเขาว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ขอยืมขนมปังสักสามก้อนเถิด 6เพราะเพื่อนของข้าเพิ่งเดินทางมาถึง และข้าไม่มีอะไรจะให้เขากิน’ 7เพื่อนที่อยู่ข้างในตอบว่า ‘อย่ารบกวนข้าเลย ประตูปิดแล้ว ลูกๆ กับตัวข้าก็เข้านอนกันหมดแล้ว ข้าไม่สามารถลุกขึ้นไปหยิบให้ท่านได้’
สุดท้ายเจ้าของบ้านยังเปิดให้เพราะทนการรบเร้าไม่ไหวจึงเปิดประตูและหยิบขนมปังให้
ความจำกัดทำให้เรากล้าขอ, ความเข้าใจทำให้เราขออย่างถูกต้อง, ความสนิทสนมทำให้เรากล้ารบเร้าและรู้จักรอคอย
ลูกา 11:8 เราบอกพวกท่านว่า แม้เขาจะไม่ลุกขึ้นไปหยิบให้คนนั้นเพราะเป็นเพื่อนกัน แต่ว่าเพราะถูกคนนั้นรบเร้าอย่างมาก เขาก็จะลุกขึ้นหยิบให้ตามที่คนนั้นต้องการ
การอธิษฐานเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับพระเจ้า
1.ทำให้เราเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพระเจ้าในการดำเนินชีวิตเสมอ
ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรา มีความไม่แน่นอนหลายอย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึง การพึ่งพาพระเจ้าจึงเป็นสิ่งที่ดียอดเยี่ยมในการดำเนินชีวิตของเรา
มัทธิว 26:41 ท่านทั้งหลายจงเฝ้าระวังและอธิษฐานเพื่อจะไม่ถูกทดลอง จิตวิญญาณพร้อมแล้วก็จริง แต่กายยังอ่อนกำลัง
2.ทำให้เราเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนความคิดของเรา
หลายครั้งเราอธิษฐานขอแล้วไม่ได้ ทำให้เราต้องทบทวนดูในหลายๆ สิ่ง เช่น เราขอในสิ่งที่ผิดหรือท่าทีผิดหรือไม่
ยากอบ 4:3 พวกท่านขอและไม่ได้รับเพราะขอผิด หวังจะเอาไปสนองความปรารถนาชั่วของตนเอง
พระเจ้าสนใจในชีวิตของเรามากกว่าการทำอะไรบางอย่างเพื่อพระเจ้า ในที่นี้แม้แต่เรื่องการอธิษฐานของเราส่วนตัวต่อพระเจ้า เราต้องปรับความคิดของเราตามพระคัมภีร์ ให้อภัยผู้อื่น ตั้งใจให้พระเจ้าเข้ามาเปลี่ยนความคิดของเราให้ถูกต้องตามพระคัมภีร์จริงๆ
มาระโก 11:25 และเมื่อพวกท่านยืนอธิษฐานอยู่ ถ้าพวกท่านมีเรื่องกับใคร จงยกโทษให้คนนั้น เพื่อว่าพระบิดาของพวกท่านผู้สถิตในสวรรค์ จะทรงยกโทษความผิดของพวกท่านด้วย
3.ทำให้เราสงบลงต่อพระประสงค์ของพระเจ้า
แม้แต่พระเยซู ในคืนก่อนที่พระองค์จะไปที่กางเขน ทรงมีความทุกข์ใจอย่างหนัก และพระองค์ทรงอธิษฐาน สุดท้ายการอธิษฐานของพระองค์ทำให้พระองค์ตัดสินใจรับน้ำพระทัยพระเจ้า และทรงมีท่าทีสงบอย่างเห็นได้ชัดตลอดการทนทุกข์ทรมานจนถึงทรงสิ้นพระชนม์บนกางเขน
มัทธิว 26:42 พระองค์จึงเสด็จไปทรงอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สอง “ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ ถ้าถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์ไม่ได้ และข้าพระองค์จำต้องดื่มแล้ว ก็ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์”
แผนการพระเจ้าและน้ำพระทัยพระเจ้า เป็นเรื่องลึกซึ้งสำหรับเรา พระเจ้าทรงทราบว่าอะไรเหมาะสมที่สุดสำหรับเราทั้งเรื่องอะไรและเวลาไหนที่เหมาะสมที่สุด การอธิษฐานทำให้เกิดการสงบลงต่อพระประสงค์พระเจ้า และไว้วางใจในพระเจ้าในหลายสิ่งที่เราไม่เข้าใจเหล่านั้นด้วย
4.ทำให้เรามีความยินดีเต็มเปี่ยมเมื่อเราอธิษฐานตามน้ำพระทัยพระเจ้า
แม้พระเจ้าทรงทราบดีว่าเราต้องการสิ่งใด กระนั้นทรงปรารถนาให้เราทูลขอต่อพระองค์ เพื่อความชื่นชมยินดีของเราจะเต็มเปี่ยม
ยอห์น 16:24 จนบัดนี้พวกท่านก็ยังไม่ได้ขอสิ่งใดในนามของเรา จงขอเถิดแล้วจะได้ เพื่อความชื่นชมยินดีของท่านจะมีเต็มเปี่ยม
ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์กับพระเจ้าในมิติที่เติบโตขึ้นในการเป็นคริสเตียน ไม่ใช่มองเพียงแค่ขอและได้หรือไม่ได้รับเท่านั้น แต่เป็นการปรับความคิดและนำชีวิตของเราเข้าไปสู่แผนการพระประสงค์ของพระเจ้า เพื่อชีวิตเราจะดำเนินไปกับพระองค์อย่างเข้าใจและติดสนิทกับพระองค์
การอธิษฐานในชีวิตประจำวัน
1.อธิษฐานสรรเสริญพระเจ้า
เป็นอธิษฐานที่บรรยายถึงความดีงามของพระเจ้าในความรู้สึกของเรา
สดุดี 106:1 สรรเสริญพระยาห์เวห์ จงขอบพระคุณพระยาห์เวห์ เพราะพระองค์ประเสริฐ เพราะความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงเป็นนิตย์
2.อธิษฐานขอบพระคุณ
เอเฟซัส 5:20 จงขอบพระคุณพระเจ้าคือพระบิดาอยู่เสมอสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ในพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับสิ่งที่พระเจ้าประทานในชีวิตในเรื่องต่างๆ เราสามารถขอบคุณพระเจ้าได้เสมอ ในทุกกรณีของชีวิต ทั้งเรื่องที่ดีและบทเรียนจากสถานการณ์บางอย่างที่พระเจ้าให้มาเพื่อพัฒนาชีวิตเรา
3.อธิษฐานสารภาพบาป
1 ยอห์น 1:9 ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงซื่อสัตย์และเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น
เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเข้ามาสารภาพบาปที่เราอาจจะทำผิดไปในแต่ละวัน เป็นคำอธิษฐานที่ทรงพลังและพัฒนาชีวิตความจริงใจของเราต่อพระองค์ได้อย่างที่สุด
4.อธิษฐานเผื่อพี่น้อง
2 เธสะโลนิกา 1:11 เพราะเหตุนี้ เราจึงอธิษฐานเพื่อพวกท่านเสมอ ขอพระเจ้าของเราทรงให้ท่านเป็นผู้ที่สมควรแก่การทรงเรียกนั้น และขอพระองค์ทรงให้ความตั้งใจดีทุกประการ และกิจการแห่งความเชื่อทุกอย่างสำเร็จด้วยฤทธิ์เดชของพระองค์
เราอาจใช้เวลาอธิษฐานเผื่อพี่เลี้ยงของเรา, กลุ่มแคร์, คริสตจักรของเรา, หรืองานรับใช้พระเจ้าในคริสตจักร เป็นต้น
5.อธิษฐานขอในสิ่งที่เราต้องการ
ฟีลิปปี 4:6 อย่ากระวนกระวายในสิ่งใดๆ เลย แต่จงทูลพระเจ้าให้ทรงทราบทุกสิ่งที่พวกท่านขอ โดยการอธิษฐานและการวิงวอน พร้อมกับการขอบพระคุณ
เป็นสิ่งที่ดีหากเราได้คำตอบจากคำอธิษฐานในเรื่องส่วนตัว ทำให้เรามั่นใจในประสบการณ์ดีๆ กับพระเจ้า อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องฝากความหวังใจไว้ในพระเจ้า ไม่บังคับพระองค์ให้ตอบเรา แต่ไว้วางใจในพระองค์ พระเจ้าอาจจะตอบ หรือให้เรารอ หรือไม่ตอบก็ได้ เพราะพระองค์ทรงทราบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราเสมอ และสิ่งที่เป็นบาป
6.ให้เราฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า
ให้เราฟังพระเจ้าด้วยเมื่อเราอธิษฐานกับพระเจ้าซึ่งเป็นการสนทนาร่วมกัน และพระเจ้าปรารถนจะพูดกับเรา ดังนั้นเมื่อเราอธิษฐานให้เราพักสงบฟังเสียงของพระเจ้า
การอธิษฐานในภาคปฏิบัติ
- คำที่แทนตัวเราและพระเจ้า – ขอให้เป็นคำของเราเองที่มาจากใจของเรา เช่น แทนตัวเราว่า ฉัน, ผม, ดิฉัน, หนู, เป็นต้น แทนพระเจ้าว่า พระเจ้า, พระบิดา, พระเยซู, พระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นต้น
- ควรขึ้นต้นคำอธิษฐานว่าอย่างไร – คำอธิษฐานของพระเยซู พระองค์ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้สถิตในสวรรค์”
มัทธิว 6:9-13 เพราะฉะนั้นพวกท่านจงอธิษฐานเช่นนี้ว่า ‘ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้สถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก ขอประทานอาหารประจำวันแก่พวกข้าพระองค์ในวันนี้ และขอทรงยกบาปผิดของพวกข้าพระองค์ เหมือนพวกข้าพระองค์ยกโทษบรรดาคนที่ทำผิดต่อข้าพระองค์ และขออย่าทรงนำพวกข้าพระองค์เข้าไปในการทดลอง แต่ขอให้พวกข้าพระองค์พ้นจากความชั่วร้าย
- เนื้อหาคำอธิษฐาน – ให้เป็นคำของเราเองที่ออกมาจากใจ
- คำลงท้าย – “ในพระนามพระเยซูคริสต์ อาเมน” เราขอในนามพระเยซู และ อาเมนหมายถึงขอให้เป็นไปตามนั้น
คำถามที่มักพบและข้อแนะนำในภาคปฏิบัติ
- อธิษฐานหลับตาหรือเปิดตา – ได้ทั้งนั้น ขอให้เรามีใจจดจ่อกับพระเจ้า ปกติปิดตาก็มีความจดจ่อได้ดีกว่า
- อธิษฐานออกเสียงหรือไม่ออกเสียง – ได้ทั้งนั้น แต่โดยปกติคริสตจักรเราจะอธิษฐานออกเสียง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความตั้งใจจดจ่อของเราในการอธิษฐาน
- อธิษฐานเวลาใด – ได้ทุกเวลา พระเจ้าฟังคำอธิษฐานของผู้ชอบธรรมเสมอ
- เวลาอธิษฐานต้องมีท่าทางอย่างไร
ในพระคัมภีร์มีการออกเสียง มีการคุกเข่า การหมอบกราบ มีการชูมือ มีทั้งเงียบๆ มีทั้งการยืน การนั่ง การวางมืออธิษฐานเผื่อผู้อื่น ฉะนั้นการแสดงออกของเราในการอธิษฐานสามารถทำได้อย่างเหมาะสมตามพระคัมภีร์ แต่ให้ออกมาจากใจของเราอย่างแท้จริงไม่ใช่การพยายามเลียนแบบอาการของคนในพระคัมภีร์
- อธิษฐานในชีวิตประจำวัน
ปกติคริสเตียนจะขอบคุณพระเจ้าสำหรับอาหารที่พระเจ้าประทานเพื่อเป็นการระลึกถึงความรักเมตตาและการเลี้ยงดูของพระเจ้าในชีวิต ฉะนั้นแนะนำให้อธิษฐานก่อนทานอาหารทุกมื้อเพื่อเป็นการขอบคุณพระเจ้า และเราควรอธิษฐานก่อนนอนขอบคุณพระเจ้าสำหรับตลอดทั้งวันที่พระองค์ทรงดูแลชีวิตเราเสมอ เป็นต้น
การอธิษฐานเป็นทั้งชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษ
เราอาจจะมีบางเรื่องที่หนักใจอยากทูลต่อพระเจ้าเป็นพิเศษ
หรือเราอาจไม่มีอะไรเป็นพิเศษแต่อธิษฐานเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์สนิทกับพระองค์
ซึ่งนั่นเป็นสิ่งดีมากสำหรับการพัฒนาชีวิตคริสเตียน
ผู้เขียน: อจ. ดร.กนก ลีฬหเกรียงไกร
อ้างอิง
- นที ตันจันทร์พงศ์. ศาสนศาสตร์ 1. กรุงเทพฯ: พระคริสตธรรมกรุงเทพ, 2015.
- มุมสงบ. กรุงเทพฯ: กนกบรรณาสาร,
- เฮ็นรี่ แคลเรนซ์ ทีเซ่น. ศาสนศาสตร์ระบบ. กรุงเทพฯ: กนกบรรณาสาร, 1995.
- บิล ไฮเบลส์. ไม่ยุ่งเกินอธิษฐาน. กรุงเทพฯ: ศูนย์ทีรันนัส (สำนักพิมพ์ จีพี), 2006.
- อี. เอ็ม. บาวนด์. พลังผ่านการอธิษฐาน. กรุงเทพฯ ศูนย์ทีรันนัส (สำนักพิมพ์ จีพี), 2010.
- Erickson, Millard J. Christian Theology. Grand Rapids: Baker, 2004.